ทำอย่างไรไม่ให้โดนสั่ง “แก้งานออกแบบ” บ่อยๆ

Update

การโดนสั่งแก้งานออกแบบเป็นของคู่กับนักออกแบบทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักออกแบบมือเก่าหรือมือใหม่ทุกคนล้วนแล้วต้องเคยโดนสั่งแก้งานกันมาทั้งนั้น การแก้งานเกิดจากอะไร? การโดนสั่งให้แก้งานมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดนั้นคือ “ลูกค้า” ไม่ชอบหรือเราออกแบบมาแล้วยังไม่โดนใจลูกค้า

แล้วถ้าปัจจัยหลักของการโดนสั่งแก้งานนั้นคือ “ลูกค้า” สั่งเราก็ไม่มีทางเลี่ยงได้รึเปล่า? แน่นอนมันเลี่ยงไม่ได้ แต่มันสามารถทำให้จำนวนการโดนแก้ลดน้อยลงได้เหลือเพียงกี่ครั้งเท่านั้น ด้วยวิธีง่ายๆแบบนี้


1. No Brief No Work

แก้งานออกแบบ

“ไม่มี Brief เราไม่ทำ” เราไม่ได้บอกว่าเราจะไม่รับงานหรือจะไม่ทำงาน แต่เรากำลังบอกว่าถ้าลูกค้ายังไม่มีความต้องการของตัวเองในใจมันก็ไม่สามารถทำให้งานเริ่มได้ นักออกแบบหลายๆคนรับงานแบบไม่มี Brief มาทำ โดยลูกค้าจะบอกว่าทำมาก่อนเดี๋ยวค่อยดูทีหลัง “ตอนนี้ยังไม่มีไอเดีย” คำว่ายังไม่มีไอเดียก็คล้ายๆกับการที่เราหิวข้าวแต่ไม่รู้จะกินอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆถ้าเราหิวให้เราเดินออกไปร้านอาหารตามสั่งแล้วบอก “ป้าๆทำอะไรมาให้กินก็ได้สักจาน” ถ้าเป็นเราป้าร้านข้าวคงจะเหนื่อยใจไม่น้อยที่จะต้อง “ทำอะไรก็ได้” ให้ลูกค้ากินแล้วต้องถูกใจเพราะฉะนั้นจงเค้น Brief จากลูกค้าออกมาให้ได้เยอะที่สุด ตีกรอบงานออกแบบให้แคบที่สุด เพื่อการทำงานที่ง่ายและตรงความต้องการของลูกค้าเมื่องานเสร็จ


2. เอา Moodboard ไปคุยกับลูกค้า

เมื่อเราได้รับ Brief มาแล้วจะให้ลงมือทำไปเลยก็เสี่ยงที่จะโดนแก้เกินไป ไปลองนั่งทำ Moodborad มาคุยกับลูกค้าดีกว่า ทำไปเสนอลูกค้าสัก 2 – 3 แบบเพื่อเป็นการตีกรอบของไอเดียและดีไซน์ให้แคบลงไปอีก

แก้งานออกแบบ

ลูกค้าไม่ใช่นักออกแบบ ลูกค้าไม่รู้ว่าตัวเองต้องการงานแบบไหน ลูกค้าไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งที่ตัวเองอยากได้ว่าอะไร นักออกแบบจึงต้องนำ Moodboard ไปเสนอและพูดคุยแนวทางของงานที่จะออกมาในตอนสุดท้าย

แก้งานออกแบบ
ตัวอย่าง Moodboard https://www.brandingaddicts.com/

วิธีการสร้าง Moodboard

Moodboard คืออะไร ทำไมนักออกแบบควรต้องทำมัน


3. จดบันทึกทุกคำพูดของลูกค้า

ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมามีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ลูกค้าบอกเอาแบบนี้ในตอนแรก สุดท้ายจะเอาอีกแบบ(แล้วโมเมว่าแบบที่ทำมาไม่เคยพูด ไม่เคยตกลงเอาไว้) การจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหรือแม้กระทั่งการอัดเสียงเวลาคุยงาน สรุปงานกันนั้นถือว่าสำคัญไม่น้อย อาจจะยุ่งยากไปสักนิดแต่มันก็คือปกป้องตัวเองไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการทำงาน

แก้งานออกแบบ

สิ่งที่ไม่ควรทำในการคำสั่งแก้งาน

1. ไม่ควรรับการแก้งานผ่าน Line เพราะเราไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนนำมาแย้งใสนตอนหลัง
2. ไม่รับการแก้ผ่านปากเปล่า ทุกครั้งที่มีการสั่งแก้งานต้องส่งอิเมล์ไปให้ลูกค้ายืนยันคำสั่งแก้งานเสมอ


4. กำหนดจำนวนการแก้ก่อนเริ่มงาน

งานออกแบบไม่ใช่การกิน Buffet จะแก้งานเท่าไหร่ก็ได้ งานบางงานราคาไม่ได้สูงมากแต่ใช้เวลาในการแก้งาน เกือบเท่างานออกแบบหลักแสน กำหนดจำนวนการแก้งานให้ชัดๆตรงๆ แก้ได้กี่ครั้ง แก้หลังจากครบโควต้าจะคิดเงินเพิ่มเท่าไหร่ ถ้าให้แก้ไปเรื่อยๆเราคงจะปวดหัวไม่น้อย

การกำหนดจำนวนการแก้งานจะทำให้ลูกค้าของเรารอบครอบและละเอียดในการสั่งแก้งานมากขึ้น เพราะการสั่งแก้แต่ละครั้งโควต้าการแก้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ นั่นหมายถึงลูกค้าจะเสียเงินเพิ่มถ้าต้องสั่งแก้งานบ่อยๆ


5. จ้างเรามาฟังเราบ้าง

งานบางงานถูกลูกค้าสั่งแก้งานจนเสียความสวยงามไป ถึงแม้งานจะผ่านไปได้แต่สิ่งที่เราทำออกไปนั่นสามารถเรียกว่า “งานออกแบบ” ได้อยู่รึเปล่า

ลูกค้าไม่ใช่นักออกแบบ ลูกค้าไม่ได้เรียนมาเหมือนเรา คนที่สามารถทำให้งานสวยได้งานดีได้นั่นคือเรา ถ้าเรายอมแก้ตามลูกค้าไปเรื่อยๆจนสุดท้ายงานพังเราก็คงไม่ภูมิใจเท่าไหร่ บางครั้งเราต้องใจแข็งกับลูกค้าบ้างอย่างที่บอกไปว่า “จ้างเรามาฟังเราบ้าง”


สำหรับ 5 ข้อที่กล่าวมานั้นไม่จำเป็นต้องนำไปใช้กับงานทุกงาน ลูกค้าทุกคน เพียงแต่เราต้องประเมินงานและประเมินลูกค้าก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังเจอนั้นจะเป็นแบบไหนแล้วนำ 5 ข้อนี้ไปลองประยุกต์ใช้ในการทำงานของเรา